ตระกูลเบอรี่สายพันธุ์ไทย ผลไม้ต้านโรคร้ายและความชรา

มีผลการศึกษามากมายในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นว่า “ผลไม้ในตระกูลเบอรี่” ล้วนมีประโยชน์มหาศาลต่อสุขภาพ

โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยควบคุมน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยบำรุงสมองและความจำ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และต้านความแก่ชราได้

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงผลไม้ในกลุ่มของเบอรี่แล้ว คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกไปถึงผลไม้ของต่างประเทศที่มีชื่อลงท้ายด้วยเบอรี่ เช่น เชอรี่ สตรอว์เบอรี่ แบล็กเบอรี่ บลูเบอรี่ ราสเบอรี่ และแครนเบอรี่

จนลืมนึกไปว่าประเทศไทยของเราก็มีผลไม้สายพันธุ์เบอรี่อยู่ไม่น้อย แถมยังมีผลการศึกษายืนยันแล้วว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่ด้อยไปกว่าผลไม้ในกลุ่มเบอรี่ของต่างประเทศ ผลไม้ไทยที่จัดอยู่ในตระกูลเบอรี่นั้นมีหลายชนิด และแต่ละชนิดก็ล้วนแต่มีคุณประโยชน์สำคัญในการต้านโรคและความชราทั้งสิ้น อาทิ

ลูกหม่อนหรือมัลเบอร์รี่

เป็นพืชที่ใช้ใบเป็นอาหารของหนอนไหม สามารถปลูกได้ทุกภาคของไทย มีผลเรียงติดกันเป็นรูปทรงกระบอก เมื่อสุกจะมีสีม่วงออกแดง รสหวานอมเปรี้ยว สามารถทานแบบสด ๆ ได้ และมีสรรพคุณช่วยควบคุมน้ำหนัก แต่โดยทั่วไปจะนิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพราะอุดมไปด้วยกรดไขมันจำเป็น ได้แก่ โอเลอิกและไลโนเลอิก ที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ในระบบประสาทและสมองจึงช่วยให้มีความจำดี

[alert-success]ทั้งยังมีรายงานเปรียบเทียบด้วยว่า ในปริมาณที่เท่ากัน ลูกหม่อนจะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าบลูเบอรี่ราว 2 – 3 เท่า โดยสารที่พบคือ สารในกลุ่มโพลีฟีนอล แอนโธไซยานิน และเรสเวอราทอล ยังมีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ชาจากใบหม่อนก็ยังช่วยลดการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วย[/alert-success]

ลูกหว้า

เป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวานปนฝาดเล็กน้อย เมื่อสุกจะมีผลสีม่วงเข้มจนถึงดำ เนื่องจากอุดมไปด้วยสารในกลุ่มแอนโธไซยานิน กรดเอลลาจิก และกรดเฟอรูลิก ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินซีและอีถึง 2 เท่า จึงช่วยยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งในลำไส้ มะเร็งช่องปาก และมะเร็งเต้านมได้

[alert-success]นอกจากนี้คือ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดการอักเสบ และปกป้องหลอดเลือด รวมทั้งมีคุณสมบัติต้านไวรัสได้ดี[/alert-success]

มะขามป้อม

จัดเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งมีรสเปรี้ยว ฝาด แต่มีสรรพคุณครอบจักรวาล ตามตำราแพทย์แผนไทยนิยมนำมารักษาอาการหวัด แก้เจ็บคอ ละลายเสมหะ เพราะมีวิตามินซีสูง รวมทั้งมีสารในกลุ่มแทนนิน เบนซินอยด์ เทอร์ปีน ฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ และคูมาริน ที่มีส่วนช่วยลดการอักเสบของร่างกาย รวมทั้งช่วยลดการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ด้วย

[alert-success]สำหรับใครที่รับประทานมะขามป้อมเป็นประจำจะช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ และไขมันอุดตันในหลอดเลือด[/alert-success]

มะยม

ผลไม้รสเปรี้ยวแต่มีไยอาหารสูงจึงมีความสำคัญต่อระบบขับถ่าย และช่วยลดการสะสมของของเสียในลำไส้ รวมทั้งช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

[alert-success]ทั้งยังเป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่สายพันธุ์ไทยที่อุดมไปด้วยสารในกลุ่มแทนนินที่ช่วยต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง ช่วยลดการอักเสบ สำหรับผู้ที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หากรับประทานมะยมเข้าไปก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น[/alert-success]

นอกจากผลไม้ไทยทั้ง 4 ชนิดนี้แล้ว ก็ยังมี มะเกี๋ยง มะเม่า โทงเทงฝรั่ง เชอรี่ไทย และตะขบ ที่จัดอยู่ในกลุ่มของผลไม้ตระกูลเบอรี่ด้วย โดยมะเกี๋ยง เป็นผลไม้ที่พบมากทางภาคหนือ ผลมีลักษณะคล้ายลูกหว้าแต่เล็กกว่า และมีสีออกม่วงแดง มีรสเปรี้ยว และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง รวมทั้งช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายได้

ส่วนมะเม่าหรือหมากเม่า เป็นผลไม้ที่พบมากในแถบภาคอีสาน ซึ่งนอกจากจะมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูงเช่นเดียวกับผลไม้ตระกูลเบอรี่อื่น ๆ แล้ว มะเม่ายังมีธาตุเหล็กสูงจึงช่วยรักษาภาวะโลหิตจางและช่วยบำรุงเลือด สำหรับโทงเทงฝรั่งหรือเคพกูสเบอรี่ จะอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนที่ช่วยในเรื่องของการมองเห็นและทำให้มีผิวพรรณดี

นอกจากนี้ยังมีสารในกลุ่มไฟโตรสเตอรอลที่ช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลส่วนเกินได้ ที่สำคัญคือ เปลือกของโทงเทงฝรั่งยังมีใยอาหารประเภทเพคตินที่ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย เชอรี่ไทย ผลไม้สีแดงสด รสเปรี้ยว มีกลิ่นหอม เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่ประกอบไปด้วยสารในกลุ่มแอนโธไซยานินที่มีส่วนช่วยลดการอักเสบ และการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ

ผู้ที่รับประทานสารอาหารในกลุ่มนี้เป็นประจำจะมีอารมณ์ดี และรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องท้องผูก การรับประทานเชอรี่ไทยก็จะช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น และ ตะขบ เป็นผลไม้ที่ขึ้นง่ายจึงพบเห็นได้ทั่วไป มีใยอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด ทั้งแคลเซียม ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม รวมทั้งสารที่ให้สีแดงในตะขบ ได้แก่ ไลโคปีน กรดเอลลาจิก แอนโธไซยานิน และกรดแกลลิก ยังช่วยทำให้ระบบการทำงานของต่อมลูกหมากดีขึ้น ทั้งยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด ช่วยปกป้องเซลล์จากการทำลายของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยดูแลหัวใจอีกด้วย

การหันมารับประทานเบอรี่สายพันธุ์ไทย นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการมีสุขภาพดี ที่มีราคาประหยัด โดยเฉพาะแต่การรับประทานแบบสด ๆ เพราะได้ประโยชน์มากกว่าผลไม้ที่ผ่านกรรมวิธีในการปรุง ซึ่งจะทำให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่ลดลง และการแปรรูปในบางกรรมวิธีก็อาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดโรคอ้วนตามมาในภายหลังได้