9 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยลดการทิ้งพลาสติกลงในทะเล

เชื่อว่าใครก็ต้องได้ยินข่าว ‘มาเรียม’ พะยูนน้อยที่ต้องสูญเสียชีวิตให้กับขยะพลาสติกที่เกิดจากความมักง่ายของนักท่องเที่ยว

ขยะพลาสติกในท้องทะเลมิใช่แค่ปัญหาในน่านน้ำไทยเท่านั้น หากเป็นปัญหามลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลทั่วทั้งโลก

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ทุกคนไม่ว่าชาติหรือศาสนาใดจะต้องร่วมมือกับลดขยะพลาสติกในท้องทะเลที่นับจนถึงปัจจุบันได้คร่าสัตว์ทะเลไปมากกว่าหลายล้านตัว

ซึ่งคุณเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะพลาสติกในท้องทะเล เพียงทำตาม 9 วิธีดังนี้

1.เลิกใช้พลาสติกที่ใช้ได้ครั้งเดียว

ขยะพลาสติกที่ลงเอยไปอยู่ในท้องสัตว์ทะเลส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นภาชนะหรือสิ่งห่อหุ้มสินค้าที่ใช้ได้เพียงแค่ครั้งเดียวทิ้ง ด้วยความมันไร้ประโยชน์ หลายคนจึงโยนทิ้งด้วยความมักง่าย

กลายเป็นการสร้างภาระให้กับสัตว์น้ำที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่คิดว่าเป็นอาหารแล้วนำไปสู่โศกนาฏกรรมในท้ายที่สุด ดังที่เกิดขึ้นกับ ‘มาเรียม’ พะยูนผู้โชคร้าย

2.ใช้ของ Reuse

ปัจจุบันมีสินค้าหลายชนิดที่ผลิตขึ้นมาด้วยความทนทาน ทำให้หลังจากที่คุณใช้ไปแล้วก็สามารถนำไปทำความสะอาดแล้วกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำ แก้ว จานชาม หรือภาชนะสำหรับใส่สิ่งของต่าง ๆ ที่มีระยะเวลาในการใช้งานยาวนาน เป็นการช่วยลดปริมาณขยะไปได้ในตัว

3.ใช้ถุงผ้าแทน

เดี๋ยวนี้เวลาแวะเวียนไปซื้อของตามร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า สิ่งที่จะต้องนำติดมือไปด้วยเสมอคือถุงผ้าซึ่งสามารถช่วยทดแทนและลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น บางห้างร้านปัจจุบันก็ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกเป็นการถาวรแล้ว นอกจากนั้น หากคุณยังไม่มีถุงผ้าก็สามารถซื้อได้จากแคชเชียร์ที่ช่องจ่ายเงินได้เลย

4.ลดปริมาณของใช้ในห้องน้ำ

ของใช้ส่วนใหญ่ในห้องน้ำของเรานั้น ร้อยละ 99 ล้วนแล้วแต่มีภาชนะที่ทำมาจากพลาสติกทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การลดปริมาณของใช้ส่วนตัวในห้องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นครีมอาบน้ำ ยาสระผม และเครื่องประทินผิวอื่น ๆ ลง

โดยอาจเปลี่ยนไปใช้ภาชนะที่คงทนถาวรกว่ามาใส่แทนก็จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

5.ใช้ของมือสอง

การใช้ของมือสองก็เท่ากับว่าเป็นการ Reuse สินค้าที่ได้มีการผลิตมาแล้ว ทำให้สินค้าบางชนิดต้องลดปริมาณการผลิตลงหากคนหันมาใช้ของมือสองกันมากขึ้น ช่วยลดมลภาวะทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนั้น หากสินค้ามือสองมีส่วนประกอบของพลาสติกก็เท่ากับจะได้ไม่ต้องผลิตพลาสติกเพิ่มมากขึ้นเพื่อจำหน่ายนั่นเอง

6.ซื้อของคุณภาพดีที่ใช้ได้นาน

เช่นเดียวกับการซื้อของมือสอง การซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาอาจจะสูงหน่อย แต่เมื่อซื้อมาแล้วสามารถใช้ได้นานหลายปี ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่จะทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าชนิดดังกล่าวลดน้อยลง

ลดการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากไม่ต้องเร่งผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการนั่นเอง

7.ซื้อของที่ทำมาจากการรีไซเคิล

มีสินค้ามากมายที่สามารถนำไปรีไซเคิลแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ แม้กระทั่งเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกายต่าง ๆ รวมถึงจักรยานหรืออุปกรณ์กีฬา สินค้าที่ถูกนำไปรีไซเคิลก็คือ ขยะที่หลายคนทิ้งไปนั่นเอง

การช่วยซื้อสินค้ารีไซเคิลจะทำให้มีขยะจำนวนมากถูกนำไปรีไซเคิลมาจำหน่ายใหม่ โดยไม่ต้องถูกนำไปเผาทำลายจนสร้างมลภาวะแก่ท้องทะเลนั่นเอง

8.ใช้วิธีการแชร์หรือเช่าสิ่งของ

สินค้าบางชนิดสามารถใช้วิธีการแชร์หรือเช่าได้ เช่นรถยนต์ที่ปัจจุบันมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ หาที่จอดก็ยากเย็นแสนเข็ญ หลายคนจึงหันมาใช้วิธีการเช่าขับเฉพาะในวันที่ต้องการใช้งานจริง ๆ หรือแชร์กับคนรู้จัก

วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณการผลิตที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและทางน้ำที่เป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตืโลกร้อนได้

9.ทำให้คนอื่นดูเป็นตัวอย่าง

สำคัญที่สุดคือการเริ่มต้นทำให้คนอื่นเห็นเป็นตัวอย่าง ดังกรณีของสาวน้อย Greta Thunberg ที่ออกมารณรงค์ลดโลกร้อนด้วยการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าเธอสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นส่วนหนึ่งของการปลดปล่อยมลภาวะสู่โลก เช่นการเลือกเดินทางด้วยเรือใบแทนเครื่องบินที่ใช้น้ำมัน

การออกมาสร้างความเปลี่ยนแปลง ช่วงแรก ๆ อาจรู้สึกโดดเดี่ยว แต่นานเข้า เมื่อคนเห็นความตั้งใจและมีคุณเป็นไอดอลแล้ว พวกเขาก็จะกล้าเดินออกมาร่วมมือกับคุณ เมื่อนั้นความเปลี่ยนแปลงจึงจะเกิดขึ้นได้จริงด้วยมือเราเอง

แม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ แต่คุณเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ เพียงแค่เริ่มต้นทำตามวิธีที่บทความนี้แนะนำ วันหนึ่งพลาสติกก็จะค่อย ๆ หมดไป และสรรพชีวิตในท้องทะเลก็จะกลับคืนสู่ความสงบสุขและปลอดพลาสติกอีกครั้งหนึ่ง