หลีกเลี่ยงความเครียด! หากไม่อยากให้การลดน้ำหนักล้มเหลว

การลดน้ำหนักจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเราทำมันได้ถูกต้องและต่อเนื่องมากน้อยแค่ไหน

สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การลดน้ำหนักได้ผลคือ “การออกกำลังกาย” และ “ควบคุมอาหาร” ซึ่งอาหารถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าการออกกำลังกายถึง 80 เปอร์เซ็นต์

แต่หลายคนที่ต้องล้มเหลวกับการลดน้ำหนักมาจากความเครียดและกดดันตัวเองมากเกินไป จนไปกระทบต่อวินัยที่ตั้งเอาไว้

ทำให้การออกกำลังกายและควบคุมอาหารไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นสิ่งที่หลายๆ คนไม่รู้ตัวว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุเดียวกันก็คือ “ความเครียด”

ใจเป็นนายหลักของร่างกาย การมุมานะและมีความตั้งใจในการลดน้ำหนักจะเป็นตัวบอกว่าเราจะสามารถทำสำเร็จได้หรือไม่ หากใจเกิดความท้อแท้สิ้นหวัง ไม่อยากออกกำลังกายอีกต่อไป

เมื่อนั้นร่างกายก็ย่อมรู้สึกอ่อนเพลีย หดหู่และไร้แรงจูงใจ ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นความเครียดรูปแบบหนึ่ง

เมื่อเกิดขึ้นที่จิตใจแล้วก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อไปยังร่างกาย ทำให้การควบคุมตัวเองทั้งสติสัมปชัญญะและการงานของฮอร์โมนผิดปกติ กลายเป็นความเครียดสะสมที่รอวันระเบิดออกมา

ความเครียดกับผลกระทบต่อการลดน้ำหนัก

ใครจะรู้ว่าความเครียดมีผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของร่างกาย

ดังนั้น ใครที่ยังไม่รู้ว่าความเครียดเป็นตัวการที่ทำให้ “ฮอร์โมนคอร์ติซอล” หลั่งออกมาเพื่อเตรียมความพร้อมของพลังงานต่อสถานะการณ์ฉุกเฉินต่างๆ

เรียกได้ว่าเป็นการเอาตัวรอดของร่างกายเพื่อป้องกันการขาดพลังงาน

เมื่อใดก็ตามที่ความเครียดเกิดขึ้น ฮอร์โมนตัวนี้ก็จะถูกหลั่งออกมา ซึ่งมันมีหน้าที่ช่วยรักษาสมดุลของระบบต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นอินซูลิน ความดันเลือด การเผาผลาญพลังงานและป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดภูมิแพ้ มันจะถูกหลั่งออกมาเมื่อสภาพร่างกายมีสภาวะตึงเครียด กดดัน หดหู่ เศร้าใจหรือแม้กระทั่งการอดอาหารและออกกำลังกายที่ทำให้ร่างกายเกิดอาการเครียดขึ้นมาได้เอง

[alert-warning]ผลจากการหลั่งของสารนี้จะเข้าไปเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด เพิ่มไขมันและโปรตีนเอาไว้ในยามฉุกเฉิน

ในผู้ที่ลดน้ำหนักอยู่แล้ว อาจจะมีภาวะน้ำตาลต่ำเนื่องจากลดปริมาณการกินคารโบไฮเดรตลง คอร์ติซอลจะไปทำหน้าที่เปลี่ยนโปรตีนของกล้ามเนื้อให้กลายเป็นกลูโคสเพื่อรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่

ผลที่ตามมาคือ การสูญเสียกล้ามเนื้อที่อุตส่าห์สร้างขึ้นมาอย่างยากลำบากได้โดยง่าย[/alert-warning]

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่ลดน้ำหนักไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ คือ มันจะไปกระตุ้นสมองทำให้รู้สึกหิว

เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเช่นกัน เพื่อให้ร่างกายได้สะสมพลังงานเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น

เพื่อป้องกันการขาดแคลนพลังงานที่กำลังถูกดึงไปใช้ โดยเฉพาะอาการโหยของหวาน จึงสังเกตได้ว่าคนที่มีความเครียดบ่อยๆ จะกินของหวานมาก

ไม่ว่าจะเป็นกับข้าวรสหวาน ขนมหวาน และเครื่องดื่มน้ำอัดลม หลังจากได้รับน้ำตาลเพิ่มขึ้นจะรู้สึกอารมณ์ดี กระปรี้กระเปร่า

แต่เป็นเพียงอาการชั่วคราวที่ร่างกายหลอกให้เราตายใจก่อนจะค่อยๆ กลายสภาพเป็นเลขบนตาชั่งที่เพิ่มขึ้นมาอีก

การลดน้ำหนักจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรสร้างความตึงเครียดให้กับตัวเอง ควรปล่อยจิตใจให้สบาย ลงมือทำวันนี้ให้ดีที่สุด ส่วนผลลัพธ์ในวันพรุ่งนี้ก็ปล่อยให้มันเป็นเรื่องของวันใหม่

อย่ามัวคิดว่าพรุ่งนี้ฉันต้องผอม เพราะนั้น หมายถึงคุณกำลังสร้างความเครียดให้กับร่างกาย และจะนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด