เริ่มต้นวันใหม่ของชีวิต ด้วยแสงอาทิตย์ในยามเช้า

เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์จะมีกลไกการหลั่งฮอร์โมนที่เป็นไปตามนาฬิกาชีวิต (Circadian Rhythm)

เพื่อทำให้กระบวนการทำงานของระบบต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสัมพันธ์กับเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ดังนั้น การนอนดึกตื่นสายหรือนอนไม่เป็นเวลาจนไม่มีโอกาสออกมาสัมผัสกับแสงแดดในตอนเช้า จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นาฬิกาชีวิตแปรปรวน

หากบ่อยเข้าก็จะก่อให้เกิด “ภาวะนาฬิกานอนเคลื่อนที่” ที่นอกจากจะส่งผลทำให้เมื่อถึงเวลาตื่นจึงไม่อยากตื่นหรือตื่นยากแล้ว ยังกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนบางชนิดที่สมองจำเป็นต้องใช้แสงแดดเป็นตัวกระตุ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายจะหลั่งออกมาในยามหลับโดยทำหน้าที่ควบคุมการนอนเพื่อให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ที่สึกหรอซึ่งเกิดขึ้นในทุก ๆ วันได้อย่างเต็มที่ และจะหยุดหลั่งก็ต่อเมื่อร่างกายได้สัมผัสกับแสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้า

[alert-note]ดังนั้น ในผู้ที่นอนดึกตื่นสายจึงมักมีกระบวนการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินที่เสียสมดุล จึงรู้สึกไม่ค่อยสดชื่น เฉื่อยชา ปวดศีรษะ คิดอะไรไม่ออก และส่งผลต่อการมีปัญหาในเรื่องของความทรงจำในที่สุด[/alert-note]

ผู้หญิงหลายคนอาจจะมองว่า “แสงอาทิตย์” เป็นศัตรูตัวร้ายสำหรับผิวสวย แต่ถ้าเป็นแสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้าหรือก่อนเวลา 10.00 น. ในแต่ละวัน จะมีประโยชน์ต่อการสลายความรู้สึกเศร้า ทำให้มีอารมณ์แจ่มใส เนื่องจากแสงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของวันใหม่

จึงมักทำให้ใครหลายคนเลือกที่จะไม่จมอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต และพร้อมที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ไปกับเช้าวันใหม่อย่างมีความสุข แสงแดดจึงมีส่วนเชื่อมกับอารมณ์และระบบประสาท

เพราะนอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการผลิตสารเคมีในสมอง ได้แก่ ฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยทำให้มีอารมณ์ดีแล้ว แสงแดดยังช่วยให้สมองหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข จึงช่วยลดอาการซึมเศร้าซึ่งให้ผลดีไม่แพ้การใช้ยาเพื่อบำบัดอาการเลยทีเดียว

แสงแดดยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค และป้องกันการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ เนื่องจากจะไปกระตุ้นให้สมองผลิตโปรตีนพีเรียด 2 (Protein Period 2) ออกมาเพื่อเปลี่ยนพลังงานหัวใจจากไขมันไปเป็นกลูโคส จึงช่วยให้กระบวนการเผาผลาญพลังงานที่หัวใจทำงานได้อย่างเป็นปกติ

[alert-success]โดยเมื่อหัวใจสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือสูบฉีดโลหิตได้ดีขึ้นแล้ว ก็จะไปช่วยขีดเพิ่มความสามารถของเม็ดเลือดแดงในการลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจึงทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ และทำให้เซลล์ต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้น จึงส่งผลต่อการมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีตามไปด้วย[/alert-success]

แสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้า ไม่เพียงแต่จะดีต่อสมองและความทรงจำเท่านั้น เพราะยังช่วยลดอาการซึมเศร้า และช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจพิบัติได้ดีอีกด้วย หากตระหนักดังนี้ ก็เพียงตื่นมาสัมผัสกับความมหัศจรรย์ของแสงแดดในยามเช้า สักวันละ 30 นาที ก็จะช่วยให้มีการเริ่มต้นชีวิตที่ดีไปพร้อมกับการมีสมองที่ปลอดโปร่งแจ่มใส มีความสุข และหัวใจที่แข็งแรง