เราทุกคนมักจะรู้สึกเศร้าหรือหดหู่บ้างเป็นครั้งคราว เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ไม่สู้ดีในชีวิต ความผิดหวัง หรือภาวะเครียด อารมณ์เศร้าเหล่านั้นก็จะผ่านพ้นไปเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แต่ “ภาวะซึมเศร้า” นั้นแตกต่างออกไป
ความแตกต่างระหว่าง ภาวะซึมเศร้า กับ ความรู้สึกเศร้าธรรมดา
การรู้สึกเศร้าเป็นอารมณ์ธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดจากเหตุการณ์ยากลำบาก แต่ภาวะซึมเศร้าเป็นความผิดปกติทางสุขภาพจิตเรื้อรังที่มีอาการเฉพาะ ได้แก่
- อารมณ์หดหู่ สูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่ชอบ
- การนอนหลับหรือรับประทานผิดปกติ
- รู้สึกไร้คุณค่าหรือรู้สึกผิดมากเกินจริง
- มีความคิดรุนแรง กระวนกระวาย
- มีความคิดฆ่าตัวตายเป็นประจำ
เมื่อมีอาการดังกล่าวครบ 5 อย่างขึ้นไปติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ถือเป็นภาวะซึมเศร้าได้
การเปลี่ยนแปลงในสมอง ภาวะซึมเศร้านั้นส่งผลกระทบต่อสมองได้อย่างชัดเจน ทั้งการมีขนาดสมองส่วนหน้าและฮิปโปแคมปัสเล็กลง
มีการทำงานของสารสื่อประสาทสำคัญเช่น เซโรโตนิน โนรเอปิเนฟริน และโดพามีนผิดปกติ มีปัญหาเรื่องรอบการนอนหลับและนาฬิกาชีวภาพผิดปกติ และมีระดับฮอร์โมนเช่นคอร์ติซอลสูงผิดปกติ
แม้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าภาวะนี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่สลับซับซ้อน และกำลังศึกษาเครื่องมือสำหรับวินิจฉัยผู้ป่วยซึมเศร้าที่แม่นยำยิ่งขึ้น
อุปสรรคของ “โรคที่มองไม่เห็น”
เนื่องจากภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาทางจิตใจที่เห็นผลไม่ชัดเจนภายนอก จึงเป็นเรื่องยากที่คนรอบข้างจะสังเกตเห็นได้ เฉลี่ยคนที่มีภาวะซึมเศร้ามักใช้เวลานานกว่า 10 ปีกว่าจะแสวงหาความช่วยเหลือ การมีความเข้าใจผิดและตีตราต่อสุขภาพจิต ทำให้ผู้ป่วยหลายคนรู้สึกอับอายหรือไม่กล้าปรึกษาปัญหานี้
อย่างไรก็ดี มีทางรักษาภาวะซึมเศร้าที่มีประสิทธิผลดี อาทิ การรับประทานยารักษาสมดุลสารเคมีในสมอง ร่วมกับการรับการบำบัดจิตวิทยา ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และในบางรายที่รุนแรงอาจได้รับการรักษาด้วยวิธีไฟฟ้ากระตุ้นสมอง นอกจากนี้ยังมีทางเลือกใหม่ๆ อย่างการกระตุ้นสมองผ่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่กำลังถูกศึกษาอยู่
วิธีให้การสนับสนุนผู้ป่วย
หากคนรู้จักของคุณเป็นโรคซึมเศร้า ให้เข้าใจและเห็นใจพวกเขา หลีกเลี่ยงการตัดสิน และแนะนำว่านี่เป็นเพียงภาวะผิดปกติทางการแพทย์ไม่ใช่ความอ่อนแอหรือนิสัยส่วนบุคคล
เขาสมควรได้รับการรักษาเช่นเดียวกับโรคทางกาย คุณสามารถให้การสนับสนุนโดยช่วยค้นหารายชื่อจิตแพทย์ในพื้นที่ หรือช่วยจดประเด็นคำถามสำหรับพบแพทย์
สิ่งสำคัญที่สุด คือการพูดคุยเปิดเผยและตรงไปตรงมาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต การทำเช่นนี้ยังช่วยลดการตีตราสุขภาพจิตให้ลดน้อยลง และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงแหล่งบริการได้มากขึ้น ยิ่งเราพูดถึงปัญหาซึมเศร้ากันมากเท่าใด เราก็จะยิ่งเข้าใจภาวะนี้ได้ลึกซึ้งมากขึ้น และจะส่งผลให้มีการพัฒนาการรักษาที่ดียิ่งขึ้น
source: TedED
Photo by Anthony Tran on Unsplash