บล็อกสุขภาพ สาระเพื่อสุขภาพและชีวิต

Health

7 สัญญาณเตือนว่าแบคทีเรียในลำไส้ของคุณอาจมีปัญหา

ลำไส้และระบบย่อยอาหารเป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในร่างกาย เพราะมีหน้าที่ในการกลั่นกรองและคัดแยกอาหารที่เราทานเข้าไปให้กลายเป็นพลังงาน เช่นเดียวกับการขับสิ่งที่ย่อยไม่ได้และและไม่เป็นประโยชน์ให้ออกจากร่างกาย

โดยภายในลำไส้จะมีแบคทีเรียดีชื่อว่าโปรไบโอติกส์ (Probiotics) คอยทำหน้าที่ยับยั้งแบคทีเรียประเภทอื่น ๆ ในลำไส้ที่มาพร้อมกับอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงได้ อย่างไรก็ตาม คุณอาจพบว่าแบคทีเรียเกิดทำงานผิดปกติขึ้นมาและนำไปสู่โรคลำไส้แปรปรวน ด้วย 7 สัญญาณดังต่อไปนี้

1.แน่นท้อง ท้องอืด

หากคุณพบว่าตนเองมีอาการแน่นท้องหรือลมในกระเพาะอาหารเยอะกว่าปกติ โดยเฉพาะหลังจากที่เพิ่งทานข้าวเสร็จใหม่ ๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าระบบย่อยอาหารของคุณกำลังมีปัญหาบางอย่าง

โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกว่าภายในท้องมีลมตลอดเวลาจนพุงป่องออกมา หรือมีเสียงครืดคราดซึ่งเป็นสัญญาณของโรคลำไส้แปรปรวนที่เกิดจากการระบาดของแบคทีเรียเลวในลำไส้ที่มีปริมาณมากกว่าโปรไบโอติกส์

ซึ่งอาการแน่นท้องและท้องอืดเป็นเพียงแค่การแสดงออกของอาการของโรคลำไส้แปรปรวนรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

2.ท้องผูกสลับท้องเสีย

นอกจากอาการแน่นท้อง ลมในกระเพาะอาหารแล้ว หากคุณพบว่าตนเองมีอาการเดี๋ยวท้องผูก ถ่ายไม่ออกบ้าง เดี๋ยวท้องเสียจนถ่ายเป็นน้ำบ้าง ลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้ประจักษ์ว่าระบบย่อยอาหารของคุณกำลังมีปัญหาอย่างแน่นอนทีเดียว

โดยเฉพาะการทำงานของลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กที่อาจได้รับผลกระทบจากปริมาณแบคทีเรียที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะอาการของอาหารเป็นพิษหรือโปรไบโอติกส์ทำงานบกพร่องไม่สามารถควบคุมปริมาณแบคทีเรียในลำไส้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ อาการเช่นนี้จึงควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

3.เครียด ซึมเศร้า

หลายคนอาจจะสงสัยว่าแบคทีเรียกับอาการเครียดและโรคซึมเศร้านั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร ในความเป็นจริงแล้ว อาการที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของลำไส้ ไม่ว่าจะเป็นท้องเสีย ท้องอืด ปวดท้อง ลมในกระเพาะอาหารมาก ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อสภาพจิตใจทั้งสิ้น

โดยเฉพาะผู้อาการเจ็บป่วยส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ นอนไม่หลับ หรือเดินทางไม่สะดวก ก่อให้เกิดภาวะวิตกกังวลอันนำไปสู่ความตึงเครียดและอาการซึมเศร้าในท้ายที่สุด

4.ปวดหัว/ไมเกรน

ความแปรปรวนที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหารสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแบคทีเรียที่ชื่อว่าไมโครไบโอทา (microbiota) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนกำเริบหรือปวดหัวอย่างหนักได้

นอกจากนั้น อาการปวดท้อง ท้องอืด และท้องเสียยังทำให้ผู้ป่วยมีความอ่อนเพลีย วิตกกังวล นอนไม่หลับ ซึ่งอาจนำไปสู่อาการปวดหัว เวียนหัว และเป็นลมได้เช่นกัน

5.ไข้หวัด และไซนัสอักเสบ

นักวิทยาศาสตร์พบความเชื่อมโยงระหว่างปริมาณของแบคทีเรียดีอย่างโปรไบโอติกในระบบทางเดินอาหารกับความเสี่ยงต่อการเกิดไข้หวัดหรือการกำเริบของไซนัสอักเสบ โดยเฉพาะเมื่อพบว่ามีอาการปวดท้อง ท้องอืด หรือท้องเสียร่วมด้วย ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าคุณอาจกำลังป่วยด้วยโรคลำไส้แปรปรวนอยู่ก็เป็นได้

เนื่องจากปริมาณของโพรไบโอติกที่ลดลงทำให้เกิดการกระตุ้นอาการภูมิแพ้ภายในร่างกายในลักษณะเดียวกันกับภูมิต้านทานของร่างกายที่ลดต่ำลง ผู้ที่เป็นไซนัสจึงมีอาการกำเริบ ในขณะที่คนปกติอาจพบว่าตนเองจามบ่อย ๆ เหมือนกับเป็นไข้หวัด

6.เหนื่อยหอบ

การทำงานบกพร่องของโปรไบโอติกในระบบทางเดินอาหารอาจก่อให้เกิดอาการเหนื่อยล้าได้ เพราะปริมาณแบคทีเรียเลวที่เพิ่มมากขึ้นในร่างกายและเป็นสาเหตุของอาหารท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องเสียนั้นมีส่วนในการกระตุ้นร่างกายให้เกิดการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตมากกว่าปกติ

เมื่อผนวกเข้ากับความเครียดวิตกกังวลจากสภาวะความปรวนแปรในร่างกายแล้วก็นำไปสู่อาการเหนื่อยหอบ แม้ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ซึ่งนับว่าเป็นอาการที่มีความผิดปกติ

หากเกิดขึ้นกับคุณควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะปัญหาความปรวนแปรของลำไส้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่มีความรุนแรงมากขึ้นได้ หากปล่อยปัญหาทิ้งไว้นานเกินไป

7.น้ำหนักขึ้น

นอกจากอาการเหนื่อยหอบแล้ว แบคทีเรียที่เพิ่มมากขึ้นในร่างกาย โดยปราศจากแบคทีเรียดีอย่างโปรไบโอติกในการยับยั้งการเติบโตและช่วยควบคุมปริมาณนั้นมีส่วนสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบเผาผลาญน้ำตากลูโคสและไขมันในร่างกาย ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

เมื่อกลูโคสและไขมันไม่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ มันก็จะเกาะอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย กลายเป็นไขมันส่วนเกินที่ทำให้น้ำหนักของคุณเพิ่มมากขึ้นนั้นเอง

ในร่างกายของคนเรานั้นประกอบด้วยแบคทีเรียจำนวนมากมายหลายชนิด ทั้งแบคทีเรียดีและแบคทีเรียเลว ดังนั้น เพื่อให้ร่างกายสามารถรักษาสมดุลของแบคทีเรียทั้งสองชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณจึงควรให้ความสำคัญกับการเลือกอาหารการกินให้มาก รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ถูกสุขอนามัย และที่สำคัญต้องออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน