บล็อกสุขภาพ สาระเพื่อสุขภาพและชีวิต

Dental Health

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) กับการป้องกันฟันผุ

เนื่องจากปัจจุบันมีการศึกษามากมายพบว่าโพรไบโอติกส์นั้นมีประโยชน์กับร่างกาย โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร ซึ่งในลำไส้มีจุลินทรีย์จำนวนมาก การเพิ่มจุลินทรีย์ตัวดีจะช่วยเรื่องการย่อยอาหาร การขับถ่าย จนถึงป้องกันมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย

โพรไบโอติกส์ คือจุลทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่เพียงพอจะส่งผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น โยเกิร์ต กิมจิ มิโซะ คอมบูชา เทมเป้ น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล พาร์มีซานชีส

ปัจจุบันมีการใส่โพรไบโอติกส์ในผลิตภัณฑ์ต่างๆทั้งในรูปแบบของกิน อาหารเสริม และของใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อหวังผลช่วยเพิ่มจุลิทรีย์ที่ดีในร่างกาย เช่น นมอัดเม็ด ยาสีฟัน สกินแคร์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

ในช่องปากเป็นแหล่งที่พบเชื้อโรคมากมายหลายชนิด ทั้งแบคทรีเรียและเชื้อรา ในสภาวะปกติเชื้อโรคทั้งหลายจะอยู่กันอย่างสมดุล

ปัญหาในช่องปากที่พบได้บ่อยคือโรคฟันผุ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะทำให้ลุกลามจนเกิดอาการปวด ติดเชื้อเป็นหนอง จนต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด

โรคฟันผุเกิดจากสี่ปัจจัยหลักคือ

– เชื้อจุลทรีย์ โดยเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส มิวแทนส์ เป็นเชื้อหลักที่ทำให้เกิดฟันผุ

– อาหารพวกคาร์โบไฮเดรต แป้ง น้ำตาล โดยเฉพาะของหวานที่เหนียวติดฟัน

– องค์ประกอบต่างๆในช่องปาก เช่น คุณภาพของน้ำลาย ลักษณะของผิวฟัน

– ระยะเวลาที่ฟันสัมผัสกับกรดที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ ดังนั้นถ้าแปรงฟันหลังทานอาหารจะช่วยลดความเสี่ยงจากฟันผุได้

มีการสังเกตว่าอวัยวะในร่างกายส่วนที่สามารถติดต่อกับสิ่งแวดล้อมภายนอกได้เช่น ช่องปาก ทางเดินอาหาร ช่องคลอด จะมีเชื้อโรคที่เรียกว่าเชื้อประจำถิ่นอาศัยอยู่ โดยอยู่กันอย่างสมดุลทั้งในแง่ชนิดและปริมาณ การเสียสมดุลของเชื้อต่างๆนี้จะทำให้ร่างกายเกิดโรคต่างๆตามมา

มีการศึกษาว่าเด็กทารกที่คลอดวิธีธรรมชาติ จะได้เชื้อประจำถิ่นในช่องปากผ่านทางช่องคลอดของแม่ ซึ่งเชื้อเหล่านี้อาจทำให้การเกิดฟันผุได้ช้ากว่าเด็กทารกที่คลอดโดยการผ่าตัด ด้วยเหตุนี้จึงมีความสนใจศึกษาการใช้โพรไบโอติกในการช่วยป้องกันฟันผุ

โดยรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ผสมโพรไบโอติกส์ เช่น นมผง โยเกิร์ต เนยแข็ง น้ำผลไม้ น้ำดื่ม น้ำหวาน ผสมกับสารพรีไบโอติกส์ (อาหารของโพรไบโอติกส์) หรือในรูปแบบอาหารเสริมที่เป็นเม็ด หมากฝรั่ง เม็ดอม ยาหยด

ผลการศึกษาส่วนใหญ่พบว่า โพรไบโอติกส์อาจจะมีฤทธิ์ช่วยป้องกันฟันผุได้ แต่ส่วนใหญ่อ้างอิงจากความสามารถในการลดปริมาณเชื้อมิวแทนส์ สเตร็ปโตค็อคไค ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหนึ่งที่ทำให่เกิดฟันผุ และการศึกษาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในระยะสั้น ในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก

ควรหลีกเลี่ยงใช้โพรไบโอติกส์ที่เป็นเชื้อประเภทแลคโตบาซิลไลในคนที่ฟันผุลึก ฟันผุระยะลุกลามเพราะอาจทำให้ฟันผุลุกลามมากขึ้นได้

มีรายงานน้อยมากถึงผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ของโพรไบโอติกส์ แต่ก็มีรายงานการติดเชื้อในกระแสเลือดในกลุ่มผู้มีภาวะอ่อนแอติดเชื้อง่ายเช่น ผู้ป่วยลำไส้อักเสบ ผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยมะเร็ง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงใช้กับกลุ่มดังกล่าว

สรุปว่าโพรไบโอติกมีส่วนช่วยในการลดเชื้อที่ทำให้เกิดฟันผุระยะเริ่มแรกได้ แต่ผลอาจจะอยู่แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจึงแนะนำให้ได้รับเป็นประจำและต่อเนื่อง

อ้างอิง dent.cmu.ac.th